รายการบล็อกของฉัน

องค์ประกอบของรัฐและโครงสร้างของรัฐ มีอะไรบ้างจงอธิบาย
รัฐ หมายถึง ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์ อันประกอบด้วยดินแดนที่มีขอบเขตแน่นอน มีประชากรอาศัยอยู่ในจำนวนที่เหมาะสม โดยมีรัฐบาลปกครองและมีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง
องค์ประกอบของรัฐ มี 4 ประการ คือ
1. ประชากร รัฐทุกรัฐจะต้องมีประชากรจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายและมีประโยชน์ร่วมกัน จำนวนประชากรของแต่ละรัฐอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือ จะต้องมีประชากรดำรงชีพอยู่ภายในขอบเขตของรัฐนั้น
2. ดินแดน รัฐต้องมีดินแดนอันแน่นอนของรัฐนั้น กล่าวคือ มีเส้นเขตแดนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั้งโดยข้อเท็จจริงและโดยสนธิสัญญา ทั้งนี้รวมถึงพื้นดิน พื้นน้ำและพื้นอากาศ
3. รัฐบาล รัฐบาลคือ องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินงานของรัฐในการปกครองประเทศ รัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่สาธารณะสนองเจตนารมณ์ของสาธารณะชนในรัฐ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและป้องกันการรุกรานจากรัฐอื่น รัฐบาลเป็นองค์กรทางการเมืองที่ขาดไม่ได้ของรัฐ
4. อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจรัฐ หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ทำให้รัฐสามารถดำเนินการทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองภายในและภายนอก
อำนาจอธิปไตยมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ อำนาจอธิปไตยภายใน หมายถึง การที่มีอำนาจที่จะปกครองตนเอง และมีอำนาจสูงสุดที่จะดำเนินการใดๆ ในประเทศอย่างมีอิสระปราศจากการควบคุมจากรัฐอื่น อำนาจอธิปไตยภายนอก หมายถึง การมีอิสระ มีเอกราช สามารถจะดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ หรือกล่าวกันอีกอย่างหนึ่งว่า เอกราชก็คืออำนาจอธิปไตยภายนอกนั่นเอง
องค์ประกอบของรัฐ 4 ประการนี้ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ถ้ารัฐใดขาดองค์ประกอบในข้อใดข้อหนึ่ง แม้เพียงองค์ประกอบเดียวก็ตาม ถือว่าขาดคุณสมบัติของความเป็นรัฐโดยสิ้นเชิง
รูปแบบของรัฐ
1. รัฐเดี่ยว คือรัฐที่มีรัฐบาลกลาง เป็นผู้มีอำนาจปกครอง และอำนาจบริหารสูงสุดเพียงองค์กรเดียว
รัฐบาลกลางเป็นผู้ที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
รัฐบาลเป็นองค์กรกลาง องค์กรเดียวของรัฐที่ปกครองประชาชนได้โดยตลอดรวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศด้วย ตัวอย่างรัฐเดี่ยวได้แก่ อังกฤษ ญี่ปุ่น ไทย เป็นต้น
2. รัฐรวม ได้แก่ การรวมตัวกันของรัฐ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป โดยมีรัฐบาลเดียวกัน แต่ละรัฐบาลยังคงมีสภาพเป็นรัฐอยู่เช่นเดิม แต่การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่มีรวมกัน อาจถูกจำกัดลงไปตามข้อตกลงที่ทำขึ้น
รัฐรวมมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ
สหพันธรัฐ คือ รัฐที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันระหว่างรัฐต่างๆ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันร่วมกัน และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเหล่านั้นเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นๆ รูปแบบการปกครองแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ มีรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของแต่ละรัฐ ซึ่งเรียกกันว่า “มลรัฐ” ตัวอย่างเช่น สหรัฐ อินเดีย มาเลเซีย
สมาพันธรัฐ เป็นการรวมตัวกันระหว่าง 2 รัฐขึ้นไป โดยไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือรัฐบาลร่วมกัน แต่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการชั่วคราว และเป็นบางกรณีเท่านั้น เช่นการเป็นพันธมิตรกันเพื่อทำสงครามร่วมกัน เป็นต้น ในปัจจุบันนี้รูปแบบของรัฐแบบสมาพันธรัฐไม่มีอีกแล้ว แต่จะกลายเป็นลักษณะของการรวมตัวกันในรูปขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การนาโต้ และองค์การอาเซี่ยน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น